CTC 2023: สรุปประเด็นจาก Session ‘Work-Laugh Balance: 5 เรื่องหัวเราะทั้งน้ําตาของชาวออฟฟิศ’ สรุปประเด็นจาก Session Work-Laugh Balance พร้อมบทสรุปจาก Foretoday ให้ต่อจากนี้ทุกคนจะหัวเราะได้แบบไม่มีน้ำตาซ่อนอยู่! จากประสบการณ์การเป็นมนุษย์เงินเดือนกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สู่การแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ที่ชาวออฟฟิศทุกคนรู้สึกร่วมและหัวเราะทั้งน้ำตา ใน Session “Work-Laugh Balance: 5 เรื่องหัวเราะทั้งน้ําตาของชาวออฟฟิศ” ในงาน CTC 2023 ของคุณถนอม เกตุเอม จาก TAXBugnoms และ คุณโอมศิริ วีระกุล (Rocket Digital Agency) ในวันที่ 23 มิถุนายน 2023 ที่ว่าด้วยความจริง 5 อย่างที่ชาวออฟฟิศต้องเจอ พร้อมพูดถึง 4 ปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานประจำทั้งหลายตัดสินใจลาออก! วันนี้ ฟอร์ทูเดย์ ขอนำเรื่องราวที่ได้รับฟังจากงานมาถ่ายทอดพร้อมกับสิ่งที่ผู้เขียนตกผลึกได้จาก Session นี้ มาให้ได้อ่านกันจ้าาาา เปิดหัว Session ด้วยประโยคที่ว่า ไม่มีใครอยากลาออกหรอกนะถ้ามันไม่สุดจริง ๆ อ่ะ หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่าลาออก หรือเคยมีประสบการณ์ ในการลาออกเหมือนกันใช่มั้ยครับ ซึ่งคุณถนอมได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ว่า จริงๆ แล้วการลาออกไม่ได้เป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ จะทำกันได้ง่าย ๆ นะ การตัดสินใจลาออกแต่ละครั้งนั้นพวกเขาได้ไตร่ตรองและมีการวางแผนมาอย่างดีทั้งตอนที่จะต้องลาเพื่อไปสัมภาษณ์งาน รวมถึงการใช้ความกล้าในการตัดสินใจในครั้งนั้น ๆ ด้วย ซึ่งปัจจัยของการลาออกหลัก ๆ ก็จะวนอยู่กับเรื่องที่พวกเราชาวออฟฟิศต้องร้องไห้ทั้งน้ำตานั่นแหละ นั่นจึงทำให้คิดว่าคนรุ่นใหม่ ๆ ที่เค้าลาออกกันน่ะ เค้าไม่ได้ลาออกเพราะมันเป็นเทรนด์หรอกนะ แต่เป็นเพราะมันมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้การตัดสินใจครั้งนั้นเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานมากเกินไป ปัญหาสุขภาพ หรือเรื่องอื่น ๆ ก็ตาม ซึ่งในงานก็มีภาพตัวอย่างให้ได้เห็นกันชัด ๆ ครับ จากในภาพ เป็น Frame work ที่มาจาก Insight ของชาวออฟฟิศทั้งหลายที่คุณถนอมได้รวบรวมมาจากการทำเพจ Facebook ที่ลูกเพจได้มาแสดงความคิดเห็นผ่านคอนเท้นต์ต่าง ๆ โดยหลัก ๆ มีความจริงของชาวออฟฟิศ 5 อย่าง ที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ รู้สึกมีประสบการณ์ร่วมสุด ๆ มีอะไรบ้าง ไปดูกันได้เล้ยยย ความจริง 5 อย่างที่พอฟังแล้วทำให้ชาวออฟฟิศอย่างเรารู้สึกมีประสบการณ์ร่วมสุด ๆ 1. การลาออกไม่ใช่การยอมแพ้ แค่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งชัยชนะ 2. เบื้องหลังการเบื่องาน คือการเบื่อผู้คน! 3. หัวหน้านี่แหละเป็นระเบิดเวลาที่ทำให้ใครหลายคนอยากลาออก! 4. เงินเดือนหรือเงินทอน เงินเดือนไม่ขึ้น โบนัสไม่มี หลอกล่อด้วยคำว่า ท้าทาย 5. สุขภาพกายใจ เหมือนจะตลก แต่ไม่ใช่เรื่องเล่น ความจริง 5 อย่างของชาวออฟฟิศ 1. การลาออกไม่ใช่การยอมแพ้ แค่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งชัยชนะ ประโยคนี้แหละที่ทำให้คนทำงานรู้สึกกล้าที่จะตัดสินใจลาออกมากขึ้น ความรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานที่ต้องการพักผ่อนหลังจากลาออกโดยที่ไม่มีงานรองรับ ประโยคนี้ถือว่าสามารถช่วยลดความตึงเครียดของชีวิตลงได้เมื่อต้องตัดสินใจลาออก แค่ขอให้ได้ออกไปอยู่นิ่ง ๆ ได้พักผ่อนก็เพียงพอแล้ว ประโยคนี้จึงเปรียบเสมือนที่พึ่งทางจิตใจที่ทำให้คนที่เหนื่อยล้าจากการทำงานได้ลาออกอย่างสบายใจ เพราะพวกเขาหวังว่าจะได้ไม่ต้องทำหรือเหนื่อยล้าอีกต่อไป ซึ่งเอาเข้าจริงก็ยังมีประโยคอีกหลาย ๆ อันที่ชาวออฟฟิศอย่างเราคุ้นชินหูอีก อย่างเช่น “คนบ่นไม่เคยออก คนออกไม่เคยบ่น” คนที่เก็บซ่อนความรู้สึกไว้ในใจจนสุดท้ายก็แก้ปัญหาด้วยการลาออก ซึ่งนั่นก็เถียงไม่ได้ว่าไอพวกประโยคเหล่านี้เป็นประโยคที่ยอดฮิตซะเหลือเกินถึงแม้ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นเช่นไร ขอแค่ได้ออกมาพักเหนื่อยและโอบรับชัยชนะในวันข้างหน้าก็พอ แม้ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้าก็ตาม 2. เบื้องหลังการเบื่องาน คือการเบื่อผู้คน! ปัญหาหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าอยากลาออก เพราะงานหนักแค่ไหนแต่สภาพแวดล้อมดี ก็จะรู้สึกแอคทีฟและทำให้อยากสู้มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าสภาพแวดล้อมไม่ดีพอและไม่มีใครซัพพอร์ท มันก็จะทำให้เบื่อถึงแม้ว่างานนั้นจะเคยชอบและเคยอยากทำก็ตาม สรุปแล้วมันคือการเบื่อนั่นแหละ ซึ่งมันอาจจะเป็นจากสภาพแวดล้อมการทำงานรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัย หรือแม้แต่การมีพนักงานใหม่เข้ามาทำให้วัฒนธรรมแปลกไปก็เช่นเดียวกัน นั่นก็ทำให้เรารู้สึกว่าอยากลาออกได้เช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาและทำให้ผู้คนอยากลาออกได้ “คนเก่งงานของตัวเอง และยังเก่งงานของคนอื่นด้วยนี่ น่าเบื่อเนอะ!” และประโยคข้างต้นที่คุณถนอมพูดถึงนี้ก็ยังสามารถบ่งบอกถึงปัญหาเล็ก ๆ ของทุกองค์กรที่มีคนที่ไม่รู้ของเรื่องขอบเขต และเล่นเกมการเมืองในองค์กร นั่นก็เป็นปัญหานี้และทำให้คนเบื่อและมีแนวโน้มลาออกได้เช่นกัน 3. หัวหน้านี่แหละเป็นระเบิดเวลาที่ทำให้ใครหลายคนอยากลาออก! สิ่งที่เค้าสั่ง คือสิ่งที่ต้องทำ! การควบคุมของหัวหน้าที่ไม่โอเค การไม่แมตช์กันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พนักงานรู้สึกอยากลาออก ไม่มีใครอยากทำงานวันหยุด แต่หัวหน้าก็สั่งไม่หยุด สิ่งนี้ก็เป็นหนึ่งปัญหาหัวหน้า vs ลูกน้องเหมือนกัน แต่มุมมองของคุณถนอมได้เล่าว่า ถึงแม้เราจะรู้สึกไม่ดีกับหัวหน้าของเราอย่างไร สิ่งที่เราต้องเลือกทำคือการตระหนักรู้แค่ว่าหัวหน้าเราก็ไม่ได้ผิด ตัวเราเองก็ไม่ได้ผิด แต่เราแค่เข้ากันไม่ได้ “เราไม่ได้เป็นหัวหน้าเขาตลอดไป และเขาก็ไม่ได้เป็นลูกน้องเราตลอดไป” การให้เกียรติกันและกันจะทำให้ในอนาคตหากหัวหน้าหรือลูกน้องได้โคจรมาเจอกันในสถานะที่แตกต่างออกไปจะทำให้เรายังสามารถร่วมงานกันได้อีกโดยไม่เคืองใจต่อกันอีกด้วย 4. เงินเดือนหรือเงินทอน เงินเดือนไม่ขึ้น โบนัสไม่มี หลอกล่อด้วยคำว่า “ท้าทาย” หนึ่งในความจริงของชาวออฟฟิศที่ทำให้เรารู้สึกอยากลาออกคือ เงินกับงานที่ไม่สัมพันธ์กัน งานชาเลนจ์ทุกงานแต่พอมองดูสลิปเงินเดือนแล้วรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าเหลือเกิน ไม่ได้ตามสิ่งที่ทุ่มเทไป สิ่งที่คุณถนอมพูดในหัวข้อนี้คือเราควรอ่านชีพจรบริษัทตัวเองให้เป็น โดยชีพจรที่ว่านี้ก็คือการดูงบการเงินในบริษัทให้เป็นและควรรู้ว่าบริษัทเรามีเงินอยู่ขนาดไหนนั่นเอง ถ้าเราไปพิจารณาตรงนี้ก็จะทำให้เราสามารถคาดการณ์และรู้ว่าเราควรจะอยู่หรือไป และจัดการกับแผนชีวิตการทำงานของเราได้ต่อไป 5. สุขภาพกายใจ เหมือนจะตลก แต่ไม่ใช่เรื่องเล่น “รู้สึกแย่ไม่ได้แปลว่าเราแพ้หรืออ่อนแอ มันเป็นแค่ความรู้สึก“ Pain point บางอย่างของชาวออฟฟิศที่เห็นได้จากตอนที่มีกระแส LGBTQ ที่บริษัทศรีจันทร์มีสวัสดิการเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา เป็นที่ฮือฮามากในโลกออนไลน์โดยที่บริษัทศรีจันทร์ไม่ได้ทำการบูสโพสต์อะไรเลย ตัวนี้เป็นดัชนีชี้วัดที่ทำให้เห็นได้ชัดว่าในปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จำนวนกลุ่มคนเหล่านี้จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ คุณถนอมได้ยกตัวอย่างประมาณว่า “ป่วยเป็นหวัดไปหาหมอก็สามารถรักษาได้ทันที แต่ป่วยใจกว่าจะรู้ว่าเป็นใช้เวลานานซึ่งบางทีก็ไม่กล้าพูดถึงด้วยเพราะพวกเรายังไม่รู้จักมันดีพอว่าอาการเหล่านี้มันคืออะไร” ซึ่งหากออฟฟิศมีสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพจิตก็จะถือเป็นเรื่องที่ดีมากในปัจจุบัน เพราะการที่พนักงานได้รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรก็จะช่วยให้รักษาได้ทันท่วงทีและส่งผลกระทบน้อยกว่าการที่เราต้องทนไปเรื่อย ๆ จนไม่ไหวและเกิดการลาออกได้ สิ่งสำคัญคือถ้าตัวเองไม่ไหวให้บอกว่าไม่ไหวเพื่อหาวิธีแก้ปัญหานั้นเป็นข้อ ๆ ไป ค่อย ๆ เรียบเรียงความคิด ให้เราสามารถทำงานอย่างมีความสุขได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องลาออกด้วยซ้ำ “การเห็นใจซึ่งกันและกันสามารถช่วยได้” คุณถนอมทิ้งท้ายไว้ว่าการเข้าอกเข้าใจกันในออฟฟิศก็จะสามารถทำให้ทุกคนไม่ต้องอดทนอดกลั้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ การรู้จักตัวเองจะทำให้เราทำใจยอมรับและรู้ว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร พิจารณาตัวเองผ่าน 4 Factors ยอดฮิตที่สรุปมาโดย คุณถนอม Taxbugnom ถ้าหนึ่งในสี่ไม่ดี เรายังพอทนได้ ถ้าสองในสี่ไม่ดี เราควรเริ่มเอะใจ ถ้าสามในสี่ไม่ดี เราควรเตรียมตัว ถ้าทั้งสี่เรื่องไม่ดี พี่จะอยู่รออะไรครับ คุณโอมศิริ วีระกุล (Rocket Digital Agency) การตัดสินใจลาออกนั้นปัญหาหลักมาจาก 4 ปัจจัยที่ทางคุณถนอมและคุณโอมได้รวบรวมไว้ ซึ่งการให้น้ำหนักกับ 4 ปัจจัยนี้ ชาวออฟฟิศแต่ละคนก็จะมีการให้น้ำหนักที่ต่างกันออกไป จึงทำให้เราไม่สามารถตัดสินอย่างตรงไปตรงมาได้แต่เราควรตอบตัวเองตั้งแต่แรกให้ได้ว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องไหนมากที่สุด โดยคุณถนอมได้โพสให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมผ่านทาง Twitter @TAXBugnoms ว่าสิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือเราควรเข้าใจตัวเองให้มาก ๆ ว่างานที่เราทำอยู่มันให้อะไรกับเรา และในทางกลับกัน มันเอาอะไรจากเราไป ซึ่งถ้าใครอยากอ่านเพิ่มเติมแบบเต็มสามารถคลิกเข้าไปอ่านที่ลิ้งก์นี้ >>> “TAXBugnoms on twitter เมื่อไหร่ควรลาออก?” ได้เลยนะครับ สุดท้ายนี้ การปรับตัวเข้าหากันไม่ว่าจะฝั่งองค์กรเอง หรือฝั่งตัวพนักงานบริษัทเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข อยากให้ผู้อ่านทุกคนนำ frame work นี้ไปปรับใช้ จริง ๆ แล้วกรอบความคิดนี้สามารถไปปรับใช้ได้กับทุกอาชีพเลย ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพนักงานออฟฟิศเท่านั้น และบทความนี้ก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนลาออก แต่อยากให้มองเห็นถึงทางแก้ไข เพื่อพร้อมปรับตัวและคิดไตร่ตรองวางแผนให้รอบคอบให้ดี การพยายามหาข้อปรับปรุง และหาว่าเราให้ความสำคัญกับอะไรจะทำให้เราสามารถพร้อมรับมือกับสิ่งนั้นได้มากขึ้น ทั้งในแง่ของพนักงานตัวเล็ก ๆ หรือแม้แต่ในเชิงองค์กรเองก็สามารถนำกรอบความคิดนี้ไปปรับใช้ได้ เช่นเก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องความไม่สบายใจของพนักงานไว้แล้วลงมือหาทางแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เป็นองค์กรที่น่าอยู่ของพนักงานยิ่งขึ้น และถ้าเป็นในแง่ของตัวพนักงานเองทำให้สามารถจัดการตัวเองเพื่อเตรียมรับมือกับอนาคตรวมถึงสามารถหาความสุขจากการทำงานได้อีกครั้ง สำหรับบทความจาก Session ‘Work-Laugh Balance : 5 เรื่องหัวเราะทั้งน้ําตาของชาวออฟฟิศ’ นี้ ฟอร์ทูเดย์หวังว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อย ขอเป็นกำลังใจให้ชาวออฟฟิศและคนทำงานทุกท่านสามารถผ่านความยากลำบากเพื่อกลับมาหัวเราะกับการทำงานได้แบบไม่มีน้ำตาซ่อนอยู่อีกครั้งนะครับ STORY BYGun, Human Resources Analyst of FORETODAY “A better tomorrow starts today” Line@ : bit.ly/ForeToday FB Chat: http://m.me/foretoday #Digital Agency CTC2023 Digital Agency Digital Marketing digitalagencyforetoday foretoday HumanResource work-laughBalance ออฟฟิศ0.4 Previous Next
Creative แม่ค้าออนไลน์ต้องอ่าน ตัวช่วยเช็คสลิปโอนเงิน และ วิธีคอนเฟิร์มออเดอร์ บนช่องทาง Facebook Pay จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ!!!!!! Patnarin Sriphom|29 พ.ย. 2023
Creative มารู้จักกับ “Nostalgia Marketing” การตลาดแบบ ถวิลหาอดีต Thanakorn Ngampanchathan|29 พ.ย. 2023
Creative ความสำเร็จของร้าน “Thai Food Near Me” สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำ SEO Kraipich J.|29 พ.ย. 2023
Creative ทำไม หนัง “สัปเหร่อ” ถึงโกยรายได้ สูงถึง 300ล้านบาท บทความนี้มีคำตอบ! Pensiri C.|25 ต.ค. 2023
Creative คันปากอย่างไร ที่จะช่วยให้ธุรกิจได้ผลลัพธ์ตามเป้า ทีมงานรักกัน ด้วยเทคนิคการให้ Feedback ชั้นเลิศ! Thanakorn Ngampanchathan|25 ต.ค. 2023